แสงแดดกับผิวหนังเป็นของคู่กัน ผิวหนังเป็นอวัยวะที่ห่อหุ้มร่างกาย เป็นปราการด่านแรกที่ต้องเจอกับแสงแดด ในแสงแดดมีรังสีอุลตราไวโอเลต (Ultraviolet ray) ซึ่งทำให้เกิดปฏิกิริยาต่างๆ มากมาย ทั้งที่เป็นผลดีและที่เป็นผลเสียกับผิวหนัง ถ้าได้รับแสงแดดจัดมากอาจเกิดอาการแดง (Erythrema) หรือเกิดอาการที่เรียกว่า ถูกแดดเผา (Sunburn) ซึ่งเป็นการทำงายเซลล์หนังกำพร้าชั่วคราว แต่หากถูกแสงแดดเป็นระยะเวลานานๆ จะทำให้ผิวหนังหนา หยาบกร้านมากขึ้นและทำให้ผิวหนังมีสีคล้ำ (Tanning) ขึ้นได้ เนื่องจากการที่แสงแดดกระตุ้นเซลล์สร้างเม็ดสีที่ผิวหนังให้สร้างเม็ดสี (Melanin pigment) เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้รังสีอุลตร้าไวโอเลต อาจทำให้เกิดโรคมะเร็งที่ผิวหนังได้ โดยเฉพาะในคนผิวขาวจะมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งผิวหนังมากกว่าคนผิวดำ เนื่องจากคนผิวดำจะมีผิวหนังหนาและมี เมลานินมากกว่า จึงทำให้ป้องกันรังสีจากแสงแดด ได้มากกว่า
ดังนั้นจึงควรปกป้องผิวจากแสงแดดให้มากที่สุด โดยหลีกเลี่ยงการตากแดด หรือ สวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด ในปัจจุบันได้มีการผลิตสารที่ช่วยป้องกัน รังสีอุลตราไวโอเลต ที่เรียกว่า ผลิตภัณฑ์กัน แดด ใช้ทาผิวหนังเพื่อป้องกัน รังสีอุลตราไวโอเลต ได้
ประเภทของสารกันแดด
แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
1. กลุ่มสะท้อนแสง (Protection by Reflection)
สารในกลุ่มนี้เป็นสารกันแดดซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวสะท้อนแสง (Physical barrier) ป้องกันไม่ให้รังสี (UV) ผ่านผิวหนังได้ สารเหล่านี้ได้แก่ Titanium dioxide ,Zinc oxide ,Magnesium carbonate ,Calcium carbonate ,Iron oxide ,Magnesium oxide เป็นต้น
เนื่องจากสารกลุ่มนี้เป็นสารทีมีสีทึบและมีคุณสมบัติในการป้องกันรังสีทุกชนิด (ตั้งแต่ช่วงคลื่น 290 – 760 nm.) เมื่อรังสีอุลตร้าไวโอเลตตกกระทบจะถูกสะท้อนออกหมด ดังนั้นจึงสามารถใช้เป็นสารป้องกันแดดเผาได้
2. กลุ่มดูดซับแสง (Protection by Absorption)
สารประเภทนี้จะสามารถดูดกลืนรังสี อุลตร้าไวโอเลตไว้ได้ บางชนิดดูดกลืนได้เฉพาะรังสี UVA หรือ UVB อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่บางชนิดสามารถดูดกลืนได้ทั้ง UVA และ UVB
- Suntanning agents เป็นสารกันแดดที่สามารถดูดกลืนรังสี UVB ได้ประมาณ 85% และสามารถปล่อยรังสี UVA ผ่านผิวหนังได้ จึงทำให้ผิวเป็นสีแทน จึงใช้ทาเพื่อเปลี่ยนสีผิวเท่านั้น ไม่ควรใช้เป็นยาทากันแดด
- Sunburn preventive agents เป็นสารกันแดดที่มีประสิทธิภาพในการดูดกลืนรังสี UVB ได้ประมาณ 95% หรือมากกว่า
สารทั้ง 2 กลุ่มนี้อาจจะเป็นสารคนละตัวหรือสารตัวเดียวกันก็ได้ ถ้าเป้นสารตัวเดียวกันที่สามารถป้องกันได้ทั้ง UVA และ UVB มักจะใช้ความเข้มข้นสูงเพื่อใช้เป็น Sunburn preventive agents แต่หากใช้ในความเข้มข้นต่ำจะกลายเป็น Suntanning agents ได้
- Opaque sunblock agents เป็นสารกันแดดที่ทำหน้าที่เป็นตัวสะท้อนแสง เนื่องจากเป็นสารที่ทึบแสง รังสีทุกชนิดที่มากระทบจะถูกสะท้อนออกหมด จึงเป็นได้ทั้ง Sunburn preventive agents และ Suntanning agents ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสารนั้น
ตารางแสดงสารเคมีที่ใช้เป็นสารกันแดดทั่วๆไป
ชนิดของสาร
|
ชื่อ
|
% ความเข้มข้นสูงสุดที่อนุญาต *
|
สารที่ดูดกลืน UVA
(UVA absorbers)
|
- Sulisobenzone
- Oxybenzone
- Dioxybenzone
- Menthyl anthranilate
|
5-10%
2-6%
3%
3.5-5%
|
สารที่ดูดกลืน UVB
(UVB absorbers)
|
- Aminobenzoic acid
- Amyl dimetyl PABA
- 2-Ethoxyethyl p-methoxy
cinnamate
- Diethanolamine p-methoxy
cinnamate
- Digalloyl trioleate
- Ethyl 4-bis (hydroxypropyl)
amino benzene
- 2-Ethylhexyl-2-cyano-3 ,
3-Diphenylancrylate
- Ethylhexyl p-methoxy
cinnamate
- 2-Ethylexyl salicylate
- Glyceryl aminobenzoate
- Homomethyl salicylate
- Lawsone with
dihydroxyacetone
- Octyl dimethyl PABA
- 2-Phenylbenzimidazole-5-
sulfonic acid
- Triethanolamine salicylate
|
5-15%
1-5%
1-3%
8-10%
2-5%
1-5%
7-10%
2-7.5%
3-5%
2-3%
4-15%
0.25%
1.4-8%
1.4
5-12%
|
สารสะท้อนแสง
|
- Red petrolatum
- Titanium dioxide
|
30-100%
2-2.5%
|
* เป็นปริมาณสารที่องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA/USA) อนุญาตหรือรับรองให้ใช้
จุดประสงค์ของการใช้สารกันแดด
1.ป้องกันแสงแดดและการเกิดฝ้า กระและรอยด่างดำ
2.ป้องกันผิวจาการถูกแดดเผา
3.ป้องกันโรคมะเร็งผิวหนัง
โดยมากแล้วผลิตภัณฑ์กันแดดหรือเครื่องสำอางกันแดดมักจะมีสารกันแดดประกอบอยู่ด้วยกันหลายชนิด เพื่อให้ผลิตภัณฑ์นั้นมีคุณสมบัติป้องกันรังสี ทั้ง UVA และ UVB และเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสีอุลตร้าไวโอเลตได้มากที่สุดคือ มีค่า SPF สูงนั่นเอง
Sun Protection Factor (SPF)
ค่า SPF คือ ค่าของประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์กันแดดชนิดนั้นๆ ตัวเลขที่แสดงค่า SPF นั้นได้จากอัตราส่วนของระยะเวลาที่ผิวหนังได้รับแสงแดดระหว่างผิวที่ทาสารกันแดดกับผิวที่ไม่ได้ทาสารกันแดดแล้วเกิดอาการแดงน้อยที่สุด
SPF = ระยะเวลาของผิวหนังที่ได้รับแสงแดดแล้วเกิดอาการแดงเมื่อทาสารกันแดด
ระยะเวลาของผิวหนังที่ได้รับแสงแดดแล้วเกิดอาการแดงเมื่อไม่ได้ทาสารกันแดด
= Protected Minimum Erythema Dose
Unprotection Minimum Erythema Dose
= Protected Med
Unprotected Med
ดังนั้น หากสารกันแดดชนิดที่มีค่า SPF เท่ากับ 15 ก็หมายความว่า เมื่อทาสารกันแดดชนิดนี้แล้วสามารถทนแดดได้นานมากกว่าเดิม 15 เท่า
คนที่มีสีผิวต่างกันจะมีช่วงเวลาที่ทำให้เกิดอาการแดงเมื่อถูกแสงแดดแตกต่างกัน คนผิวขาวเมื่อถูกแสงแดด จะเกิดอาการแดงง่ายกว่า คนที่มีผิวคล้ำ ดังนั้นคนผิวคล้ำอยู่แล้ว อาจจะใช้สารกันแดดที่มีค่า SPF 6-14 ก็พอ ในขณะที่คนผิวขาว หรือคนที่เป็น กระหรือรอยด่างดำ ควรทาสารกันแดดที่มีค่า SPF เท่ากับ 15 หรือ มากกว่านั้น
ตารางแสดงการแบ่งชนิดผิวสารใช้ยากันแดด
ผิวแบบที่
|
ความไวต่อแสงอุลตร้าไวโอเลต
|
ประวัติผิวไหม้และคล้ำจากการตากแดด
|
ครีมกันแดดที่แนะนำ
(SPF)
|
1
|
ไวมากที่สุด
|
ผิวไหม้ง่าย ไม่เคยคล้ำ
|
> 10
|
2
|
ไวมากที่สุด
|
ผิวไหม้ง่าย คล้ำเล็กน้อย
|
> 10
|
3
|
ไวมาก
|
ผิวไหม้ปานกลาง ค่อยๆคล้ำ
เป็นคนผิวสีน้ำตาลอ่อน
|
8-10
|
4
|
ไวปานกลาง
|
ผิวไหม้เล็กน้อย คล้ำง่าย
เป็นคนสีผิวน้ำตาลปานกลาง
|
6-8
|
5
|
ไวเล็กน้อย
|
ไม่ไคร่ไหม้ คล้ำเร็วมาก
เป็นคนผิวสีน้ำตาลแก่
|
4
|
6
|
ไม่ไว
|
ไม่เคยไหม้ เป็นคนผิวดำ
|
ไม่จำเป็น
|
การเลือกใช้ยากันแดด
1. สามารถป้องกันรังสีทั้ง UVA และ UVB
สารกันแดดชนิดที่ดูดซึมแสง จะใสไม่มีสี เมื่อทาแล้วจะมองไม่เห็น แต่ถ้าเป็นชนิดสะท้อนแสง เมื่อทาแล้วจะเห็นเป็นปื้นหนา จึงไม่เป็นที่นิยมใช้กัน แต่คนที่แพ้แสงแดดมาก จำเป็นจะต้องใช้สารกันแดดที่มีสารสะท้อนแสงด้วย เพื่อลดปริมาณ รังสีอุลตร้าไวโอเลตที่ผิวหนัง
2. ต้องติดผิวหนังได้ดี
ไม่เป็นสารที่ระเหยและไม่ควรละลายน้ำ (Water proof) หรือ ทนต่อการชะล้างของน้ำหรือเหงื่อได้ดี ควรทายากันแดดอย่างน้อย 1 ชม. ก่อนถูกแดดจึงจะได้ผลดีที่สุด
3. เหมาะสมกับผิว
สารกันแดดมีหลายชนิด เช่น ครีม โลชั่น เจล บางชนิดมีส่วนผสมของแอลอกฮอล์ (Alcohol) คนที่มีผิวค่อนข้างมันหรือเป็นสิว ควรเลือกใช้สารกันแดดที่เป็นโลชั่นหรือเจล มากกว่าครีม เพราะจะไม่เหนียวเหนอะหนะ ส่วนคนที่ผิวแห้งควรใช้ครีมกันแดด จะเหมาะกว่าเพราะครีมจะมีส่วนที่เป็นน้ำมันช่วยทำให้ผิวชุ่มชื้นด้วย และไม่ควรใช้สารกันแดดที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพราะจะทำให้ผิวแห้งมากขึ้นได้
4.ไม่เป็นพิษ
ไม่ระคายเคือง หรือเกิดอาการแพ้ สารกันแดดที่มีสารจำพวก PABA มีโอกาสแพ้ได้มากกว่า กลุ่ม non-PABA สารที่ปะปนมากับสารกันแดด อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ เช่น สี ,น้ำหอม ,Mineral oil ,Petrolatum ,Isopropyl esters ,Lanolin derivertives ,Waxes ,Thickerners ฯลฯ
ก่อนใช้สารกันแดด ควรทดลองใช้บางบริเวณก่อน เช่น บริเวณ ใต้ท้องแขน ใต้คาง เป็นต้น